เปิดประสบการณ์ดีๆ ได้แล้ววันนี้ ในพื้นที่ทำงานดิจิทัล

11 พ.ย. 2565

คนทำงานได้สัมผัสกับวัฒนธรรมองค์กรตั้งแต่เริ่มหางานจนถึงวันพ้นสภาพพนักงาน

จะดีกว่าไหม หากองค์กรของคุณเปิดรับหลากหลายมุมมองจากคนทำงานตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อปรับพื้นที่ทำงานดิจิทัลให้เข้ากับทุกคน

ประสบการณ์ของพนักงานและประสิทธิผลของการทำงานเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ประสบการณ์ของพนักงานส่งผลต่อประสิทธิผลโดยตรง พูดง่ายๆ คือ คนที่มีความสุขกับการทำงานจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าคนที่ไม่มีความสุขอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ พนักงานที่รู้สึกใกล้ชิดกับทีมจะทำงานได้ดีกว่าพนักงานที่รู้สึกห่างเหินถึง 27% โดยจะจดจ่อกับงานมากกว่า ส่งงานที่มีคุณภาพมากกว่า และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าได้แน่นแฟ้นกว่าด้วย

โมเดลธุรกิจยุคใหม่ ต้องมีพนักงานเป็นศูนย์กลาง

ในยุคสมัยนี้ องค์กรควรสร้างโมเดลพื้นที่ทำงานที่คำนึงถึงพนักงานมากขึ้น หากต้องการสรรหาและรักษาพนักงานไว้

เทรนด์พื้นที่ทำงานดิจิทัลชี้ให้เห็นว่า Remote และ Hybrid Workplaces นั้นสำคัญมาก บริษัทที่อนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้มีอัตราการลาออกน้อยกว่าถึง 25% เมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญในประเด็นนี้

1 ใน 3 ของคนทำงานยอมลาออกจากงานปัจจุบัน หากบริษัทยกเลิกตัวเลือกการทำงานทางไกล เห็นได้ชัดว่าพื้นที่ทำงานดิจิทัลนั้นเหมาะกับคนทำงานยุคใหม่จริงๆ

พัฒนาประสบการณ์การทำงานอย่างมีกลยุทธ์

ประสบการณ์ของพนักงานครอบคลุมตั้งแต่วันแรกที่เจอประกาศรับสมัครงานจนถึงวันสุดท้ายของการทำงาน องค์กรไม่ควรโฟกัสกับการอัพเดตเทคโนโลยีมากเสียจนละเลยความจริงที่ว่า พนักงานและผู้สมัครงานก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และองค์กรควรสร้างประสบการณ์ที่เป็นมิตรให้กับพวกเขาด้วย

องค์กรจะสร้างขวัญกำลังให้พนักงานได้ด้วยการเปิดโอกาสให้พวกเขาพัฒนาทักษะและก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยสามารถส่งเสริมให้วัฒนธรรมองค์กรแข็งแกร่งขึ้นไปพร้อมๆ กัน ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา และตั้งคำถามว่า หากคุณเป็นพนักงาน คุณจะอยากทำงานให้กับองค์กรของตัวเองหรือไม่?

แล้วพนักงานจะเข้ามามีส่วนร่วมในโซลูชันดิจิทัลนี้อย่างไร?

ประสบการณ์การทำงานที่ดีขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร มากกว่าปัจจัยด้านเทคโนโลยี

บริษัทควรหันมาใส่ใจปัจจัยด้านมนุษยสัมพันธ์ให้มากกว่าเดิม โดยอาจใช้โซเชียลมีเดียและส่งแบบสอบถามตามกำหนดเวลา เพื่อเข้าถึงพนักงานมากขึ้น

องค์ประกอบสำคัญเพื่อวางกลยุทธ์

เมื่อวางกลยุทธ์เสริมสร้างประสบการณ์การทำงาน ควรคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้:

  • ประสบการณ์ของผู้สมัครงาน
  •  การอบรมและดูแลพนักงานใหม่
  • การสื่อสารภายในองค์กร
  • โอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
  • สวัสดิการพนักงาน

เมื่อผู้สมัครกลายมาเป็นพนักงาน องค์กรควรทำสิ่งเหล่านี้:

  • ส่งเสริมให้วัฒนธรรมองค์กรเป็นที่รับรู้และแข็งแกร่งขึ้น
  •  อบรมวัตถุประสงค์และพันธกิจของพนักงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับองค์กร
  • ให้พนักงานมี Work-life balance
  • ชื่นชมและแสดงออกว่ามองเห็นศักยภาพของพนักงานบ้างเป็นครั้งคราว
การเรียนรู้ในพื้นที่ทำงาน

โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะคือตัวกระตุ้นพนักงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

พนักงานบางคนอาจจะตั้งใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม บางคนพัฒนาทักษะไปตามธรรมชาติระหว่างทำงาน แต่ไม่ว่าการพัฒนาตนเองจะเป็นไปตามแนวทางใด พนักงานก็เรียนรู้ได้ตามความสนใจและความสะดวกของแต่ละคน

การจ้างงาน

พนักงานยุคนี้ต่างแสวงหา Work-life balance นี่คือเทรนด์การทำงานที่ส่งสัญญาณความนิยมมาสักระยะหนึ่งแล้ว และ Covid-19 ก็ยิ่งตอกย้ำเทรนด์นี้จนชัดเจนกว่าเดิม เพราะใครๆ ก็เริ่มมีแนวคิดที่ว่า การทำงานเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในชีวิต แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต

ดังนั้น คุณควรให้ความสนใจกับวัฒนธรรมองค์กรของคุณ หากองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับ Work-life balance หรือไม่มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากร การดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถระดับสูงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็จะถือเป็นงานยาก

การอบรมดูแลพนักงานใหม่

91% ของพนักงานใหม่ทำงานในองค์กรเดิมอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 1 ปี หากทางองค์กรดูแลบุคลากรเป็นอย่างดีในช่วงเริ่มงาน การดูแลพนักงานใหม่ด้วยความเข้าอกเข้าใจต่อกันจึงส่งผลดีต่อองค์กร

และนี่คือตัวอย่างแนวทางการดูแลพนักงานใหม่ที่เราแนะนำ:

  • มอบหมายให้พนักงานใหม่มีส่วนร่วมในโปรเจกต์ใหญ่ๆ
  •  สนับสนุนให้ผู้จัดการศึกษาโปรไฟล์ของพนักงานใหม่ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มงาน
การประสานงาน

การประสานงานที่ดีย่อมทำให้คนทำงานอยากมีส่วนร่วมและทุ่มเทความสามารถให้กับบริษัท ในบรรยากาศที่ทุกคนให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างดี พนักงานจะรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างแท้จริง ซึ่งการเห็นคุณค่าของตนเองนี้จะทำให้พนักงานภักดีต่องานที่ทำ การทำงานมีประสิทธิผลมากขึ้น และวัฒนธรรมองค์กรแข็งแกร่งขึ้นด้วย

แล้วอย่างนี้ การทำงานทางไกลจะไม่เป็นปัญหาต่อการประสานงานระหว่างพนักงานหรือ? คำตอบคือ “ไม่” อย่างไรก็ดี พนักงานถึง 78% มีความสุขมากขึ้นเมื่อได้ทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศ และพวกเขาต้องการให้การทำงานแบบนี้เป็นไปได้ด้วยดี

แล้วจะสร้างบรรยากาศการทำงานทางไกลอย่างไร ให้ทุกคนประสานงานกันอย่างราบรื่น?:

  • ให้โอกาสผู้สมัครงานที่ตอบโจทย์
  •  ตั้งกลุ่มทำงานที่มีจำนวนสมาชิกที่เหมาะสม
  • มอบหมายหน้าที่และความคาดหวังให้ชัดเจน
การรักษาพนักงานในองค์กรเอาไว้

41% ของคนทำงานกำลังคิดจะลาออกจากงานปัจจุบัน อัตราการลาออกที่สูงเช่นนี้อาจเป็นปัญหาร้ายแรงในองค์กรหลายๆ แห่ง

แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะพนักงานถึง 68% กล่าวว่าพวกเขาจะอยากทำงานต่อไปเรื่อยๆ หากองค์กรเห็นค่าในผลงานและความทุ่มเท

เทคโนโลยีในพื้นที่ทำงาน

ข้อดีของเทคโนโลยีในพื้นที่ทำงานอาจจะมีสถิติหรือการวัดผลต่างๆ มารองรับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการใช้เทคโนโลยีจะดีที่สุดเสมอไป ถ้าเทคโนโลยีนั้นๆ ซับซ้อนหรือใช้งานยากเกินไป พนักงานอาจรู้สึกเหนื่อยล้าและไร้แรงจูงใจในการทำงาน

องค์กรจึงไม่ควรสร้างภาระที่หนักเกินไปให้กับพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานที่ยังไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ทำงานดิจิทัล

โอกาสพัฒนาทักษะความสามารถ

สถานที่ทำงานในปัจจุบันมีพนักงานจากหลากหลายช่วงอายุ ช่องว่างระหว่างทักษะของพนักงานแต่ละวัยจึงอาจกว้างขึ้นได้

คนทำงานรุ่นเก่าอาจขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีในพื้นที่ทำงานดิจิทัล ส่วนคนรุ่นใหม่อาจชำนาญการใช้เทคโนโลยีมากกว่า แต่ต้องการการฝึกอบรมทักษะทางสังคมหรือซอฟต์สกิล เช่น การสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้า

หากลองปรับมุมมอง จะพบว่าช่องว่างระหว่างทักษะไม่ได้นำไปสู่ภาระอันยิ่งใหญ่ที่พนักงานต้องแบกรับ แต่กลับเป็นโอกาสที่ดีที่จะอบรมทักษะใหม่ๆ ให้กับพนักงาน ในขณะเดียวกัน องค์กรยังสามารถใช้โอกาสนี้เน้นย้ำวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนให้พนักงานพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

เพราะ 94% ของพนักงานจะไม่หนีไปไหน ถ้าองค์กรลงทุนกับการพัฒนาอาชีพให้กับบุคลากร

 

 ที่มา: https://www.ricoh-usa.com/en/insights/digital-workplace/experience

 


News & Events

Keep up to date